วันศุกร์ที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2555

ขนมครกไทยสู่สากล


รศ.ดร.กมลวรรณ แจ้งชัด ภาควิชาพัฒนาผลิตภัณฑ์ คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เปิดเผยว่า งานวิจัยชิ้นนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาอาหารว่างเชิงเศรษฐกิจสร้างสรรค์ โดยพัฒนาขนมไทยซึ่งมีคุณลักษณะแสดงถึงเอกลักษณ์ของไทยให้เป็นอาหารว่างสากลสำหรับผู้บริโภคทั่วไป โดยใช้แป้งข้าวกล้องงอกเป็นวัตถุดิบหลัก และเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีศักยภาพในการส่งออก อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับข้าวซึ่งเป็นผลิตผลทางการเกษตรให้มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น โดยแนวความคิดในการพัฒนาเริ่มจากกำหนดเกณฑ์ในการคัดเลือกคือ ใช้ข้าวเจ้าเป็นวัตถุดิบหลัก มีเทคโนโลยีและกรรมวิธีการผลิตรองรับ และมีอายุการเก็บรักษานานกว่า 1 เดือน ด้วยเทคนิคต่าง ๆ ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ แนวคิดที่ได้ออกมาเป็น “ขนมครกกึ่งสำเร็จรูป” จากนั้นพัฒนาแนวความคิดให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ จนได้แนวความคิดเป็น “ผลิตภัณฑ์ทาร์ตไท” ในที่สุด
“ผลิตภัณฑ์ทาร์ตไท” ประกอบด้วยสองส่วน คือ เปลือกทาร์ต หรือ ส่วนของถ้วยขนมครก และหน้าทาร์ตผงกึ่งสำเร็จรูป จากการพัฒนาสูตรและกรรมวิธีการผลิต ได้ส่วนผสมในส่วนของแป้งทั้งของเปลือกทาร์ต และหน้าทาร์ต ทำจากแป้งข้าวกล้องงอก ร้อยละ 100 โดยมีกรรมวิธีการเตรียมที่สะดวกและง่ายต่อการนำมาบริโภค โดยผสมน้ำอุ่นลงในส่วนผสมผงของหน้าทาร์ต คนให้เข้ากัน จากนั้นเข้าเตาไมโครเวฟเป็นเวลา 2 นาที เทหน้าทาร์ตลงในเปลือก ตกแต่งหน้าต่างๆ ด้วยแครอท ฟักทอง ข้าวโพด ที่สุกแล้ว ตามใจชอบ หรืออาจโรยหน้าด้วยต้นหอม ผลิตภัณฑ์ทาร์ตไทจะมีกลิ่นหอมของกะทิและแป้งข้าว โดยเฉพาะมีกลิ่นรสกะทิซึ่งแสดงถึงเอกลักษณ์ของขนมไทย และมีเนื้อสัมผัสกรอบด้านนอก ตามสูตรของขนมครกไทย นับเป็นมิติใหม่ของการพัฒนาขนมไทยซึ่งยังไม่มีผลิตภัณฑ์ชนิดนี้จำหน่ายในตลาดทั้งในและต่างประเทศ
จากการวิเคราะห์คุณภาพของทาร์ตไท พบว่า ผลิตภัณฑ์ในบรรจุภัณฑ์ ประกอบด้วยเปลือกทาร์ต 8 ชิ้น และหน้าทาร์ตผงสำเร็จรูป มีกรดแกมมาอะมิโนบิวทีริค (Gamma-aminobutyric acid, GABA) เท่ากับ 2.70 mg/100g ค่า aw ของเปลือกทาร์ต และหน้าทาร์ตผงกึ่งสำเร็จรูป มีค่า 0.20 และ 0.23 ตามลำดับ จากการตรวจสอบคุณภาพทางจุลินทรีย์ พบว่า อยู่ภายใต้มาตรฐานอาหารกึ่งสำเร็จรูป และจากการทดสอบการยอมรับของผู้บริโภค พบว่า มีคะแนนความชอบรวมอยู่ในระดับชอบปานกลางถึงชอบมาก ผลิตภัณฑ์ทาร์ตไทที่พัฒนาขึ้นนี้นับว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่แสดงเอกลักษณ์ของความเป็นไทยไปสู่ความเป็นสากล เป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ ซึ่งใช้วัตถุดิบที่หาได้ในประเทศ เหมาะสำหรับผู้บริโภคทั่วไป สามารถทำการตลาดได้หลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นแฟรนไชน์ หรือจำหน่ายเป็นชุดอาหารในร้านสะดวกซื้อ อีกทั้งยังมีเทคโนโลยีพร้อมสำหรับการผลิตในระดับนำร่องโดยใช้เครื่องมือในการขึ้นรูปแบบกึ่งอัตโนมัติ สามารถผลิตได้อย่างต่อเนื่อง และมีศักยภาพในการผลิตเชิงพาณิชย์ต่อไป
อีกไม่นาน ขนมไทย ๆ อย่างขนมครกกึ่งสำเร็จรูปหรือ “ทาร์ตไท” คงจะได้อวดโฉมในตลาดสากล ให้ชาวต่างชาติได้ลองลิ้มชิมรส… ผู้ประกอบการ ภาคอุตสาหกรรม หรือผู้สนใจต่อยอดองค์ความรู้จากงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์อย่างเป็นรูปธรรม สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ภาควิชาพัฒนาผลิตภัณฑ์ คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โทร. 02-5625004


ที่มา : http://kanomwanthai.wordpress.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น