วันศุกร์ที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

ที่มาของคำว่า "ขนม"


คำว่า "ขนม "เข้าใจว่ามาจากคำสองคำที่ผสมกันมาแล้ว คือ "ข้าวหนม" กับ "ข้าวนม" ข้าวหนมนั้นเข้าใจว่าเป็นข้าวผสมกับน้ำอ้อย น้ำตาล โดย คำว่า หนม แปลว่า หวาน อย่างข้าวหนมก็แปลว่าข้าวหวาน เรียกสั้นๆเร็วๆจึงเพี้ยนเป็นขนมไป ส่วนที่มาจากข้าวนม(ข้าวเคล้านม) ออกจะดูเป็นแขก พราะว่าอาหารของแขกบางชนิดใช้ข้าวผสมกับนม อย่างกับ ข้าวมธุปายาสของแขกโบราณ(ดังที่นางสุชาดา ทำถวายพระพุทธเจ้าเมื่อตอนตรัสรู้ก็ว่าเป็นข้าวหุงกับนม)และเช่นเดียวกัน เมื่อพูดเร็วๆจึงเพี้ยนกลายเป็นขนมแทน คำว่าขนมมีใช้มานานหลายร้อยปีแล้ว ไม่ว่าจะเป็นคำผสมของอะไร จึงเป็นการยากที่จะสันนิษฐานให้แน่นอนได้ ของที่เรียกว่าขนมในสมัยโบราณ หรือในสมัยที่จะมีคำว่าขนมนั้นจะเป็นของที่เกิด   จากข้าวตำป่น (แป้ง) แล้วผสมกับน้ำตาลเท่านั้น ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นขนมรุ่นแรก ในหนังสือไตรภูมิพระร่วงกล่าวถึงขนมต้มไว้เหมือนกัน เดิมมีแป้งกับน้ำตาล ต่อมามีคนดัดแปลงสอดใส้เข้าไปอีก ถึงตอนนี้ยังมีมะพร้าวปนอยู่ด้วย ขนมไทยจึงหนี มะพร้าว แป้ง และ น้ำตาลไม่พ้น ของทั้ง ๓ อย่าง  ที่เป็นของพื้นเมืองที่หาได้โดยทั่วไป





ขนมในพิธีกรรมและงานเทศกาล



ขนมไทยมีส่วนร่วมในวิถีชีวิตไทยในทุกเทศกาลและโอกาสต่างๆ แสดงให้เห็นถึงความผูกพันและเป็นส่วนสำคัญของวัฒนธรรมไทยตั้งแต่สมัยโบราณ ขนมที่ใช้ในงานเทศกาลและพิธีกรรมต่างๆของไทยตลอดทั้งปีสรุปได้ดังนี้




ขนมไทยในงานเทศกาล
  • งานตรุษสงการนต์ ที่พระประเเดง และราชบุรี ใช้กะละแมเป็นขนมประงานตรุษ
  • สารทไทย เดือน 10 ทุกภาคยกเว้นภาคใต้ ใช้กระยาสารทเป็นขนมหลัก นอกจากนั้น อาจมี ข้าวยาคู ข้าวมธุปายาส ข้าวทิพย์ ส่วนทางภาคใต้ จะมี ขนมสารทเดือนสิบ โดยใช้ขนมลา ขนมพอง ขนมท่อนใต้ ขนมบ้า ขนมเจาะหูหรือขนมดีซำ ขนมต้ม (ข้าวเหนียวใส่กะทิห่อใบกะพ้อต้ม ต่างจากขนมต้มของภาคกลาง) ยาสาด (กระยาสารท) ยาหนม (กะละแม)โดยขนมแต่ละชนิดที่ใช้มีความหมายคือ ขนมพองเป็นแพพาข้ามห้วงมหรรณพ ขนมกงหรือขนมไข่ปลา เป็นเครื่องประดับ ขนมดีซำเป็นเงินเบี้ยสำหรับใช้สอย ขนมบ้า ใช้เป็นลูกสะบ้า ขนมลาเป็นเสื้อผ้าแพรพรรณ 
  • เทศกาลออกพรรษา การตักบาตรเทโว เดือน 11 นิยมทำข้าวต้มผัดห่อด้วยใบตองหรือใบอ้อย ธรรมเนียมนี้มาจากความเชื่อทางศาสนาที่ว่า เมื่อประชาชนไปรอรับเสด็จพระพุทธเจ้าเมื่อทรงพุทธดำเนินจากเทวโลกกลับสู่โลก มนุษย์ ณ เมืองสังกัสสะ ชาวเมืองที่ไปรอรับเสด็จได้นำข้าวต้มผัดไปเป็นเสบียงระหว่างรอบางท้องที่มีการทำข้าวต้มลูกโยนใส่บาตรด้วยเช่น ชาวไทยเชื้อสายมอญที่จังหวัดราชบุรี 
  • ในช่วงออกพรรษา ที่จังหวัดนครศรีธรรมราชมีประเพณีลากพระและตักบาตรหน้าล้อ ซึ่งจะใช้ขนมสองชนิดคือ ห่อต้ม (ข้าวเหนียวผัดกะทิห่อเป็นรูปสามเหลี่ยมด้วยใบพ้อ) และห่อมัด (เหมือนห่อต้มแต่ห่อด้วยใบจากหรือใบมะพร้าวอ่อนเป็นรูปสี่เหลี่ยมใช้เชือก มัด)
  • ในช่วงถือศีลอดในเดือนรอมฎอน ชาวไทยมุสลิมนิยมรับประทานขนมอาเก๊าะ
  • เดือนอ้าย มีพระราชพิธีเลี้ยงขนมเบื้อง เมื่อพระอาทิตย์โคจรเข้าราศีธนู นิมนต์พระสงฆ์ 80 รูป มาฉันขนมเบื้องในพระที่นั่งอมรินรวินิฉัย
  • เดือนอ้ายในจังหวัดนครศรีธรรมราชมีประเพณีให้ทานไฟ โดยชาวบ้านจะก่อไฟและเชิญพระสงฆ์มาผิงไฟ ขนมที่ใช้ในงานนี้มี ขนมเบื้อง ขนมครก ขนมกรอก ขนมจูจุน กล้วยแขก ข้าวเหนียวกวน ขนมกรุบ ข้าวเกรียบปากหม้อ )
  • เดือนสาม ทางภาคอีสานมีประเพณีบุญข้าวจี่ ซึ่งจะทำข้าวจี่ไปทำบุญที่วัด
  • ชาวไทยมุสลิมมีประเพณีกวนขนมอาซูรอในวันที่ 10 ของเดือนมูฮรอม

ขนมไทยในพิธีกรรมและความเชื่อ

  • การสะเดาะเคราะห์และแก้บนของศิลปินวายัง-มะโย่งของชาวไทยมุสลิมทางภาคใต้ ใช้ข้าวเหนียวสามสี (ขาว เหลือง แดง) ข้าวพอง (ฆีแน) ข้าวตอก(มือเตะ)รา (กาหงะ) และขนมเจาะหู
  • ในพิธีเข้าสุหนัต ขึ้นบ้านใหม่ แต่งงาน นำเรือใหม่ลงน้ำ ชาวไทยมุสลิมนิยมทำขนมฆานม
  • ขนมที่ใช้ในงานแต่งงาน ในภาคกลางนอกกรุงเทพฯออกไปจะมีขนมกงเป็นหลัก นอกจากนั้นมีทองเอก ขนมชะมด ขนมสามเกลอ ขนมโพรงแสม ขนมรังนก บางแห่งใช่ขนมพระพายและขนมละมุดก็มี ในบางท้องถิ่น ใช้ กะละแม ข้าวเหนียวแดง ข้าวเหนียวแก้ว ขนมชั้น ขนมเปียก ขนมเปี๊ยะ ถ้าเป็นตอนเช้า ยังไม่ถึงเวลาอาหาร จะมีการเลี้ยงของว่างเรียก กินสามถ้วย ได้แก่ ข้าวเหนียวน้ำกะทิ ข้าวตอกนำกะทิ ลอดช่องน้ำกะทิ บางแห่งใช้ มันน้ำกะทิ เม็ดแมงลักน้ำกะทิ บางท้องถิ่นใช้ขนมต้มด้วย
  • พิธีแต่งงานของชาวไทยมุสลิม จะมีพิธีกินสมางัตซึ่งเป็นการป้อนข้าวและขนมให้เจ้าบ่าวเจ้าสาว ขนมที่ใช้มี กะละแมหรือขนมดอดอย ขนมก้อหรือตูปงปูตู ขนมลา และข้าวพอง
  • ขนมที่ใช้ในงานบวชและงานทอดกฐินของชาวไทยเชื้อสายมอญในจังหวัดราชบุรีได้แก่ ขนมปลาหางดอก และลอดช่องน้ำกะทิ
  • ในงานศพ ชาวไทยเชื้อสายมอญในจังหวัดราชบุรีนิยมเลี้ยงเม็ดแมงลักน้ำกะทิ 
  • การบูชาเทวดาในพิธีกรรมใดๆ เช่น ยกเสาเอก ตั้งศาลพระภูมิใช้ขนมต้มแดง ขนมต้มขาว เป็นหลักในเครื่องสังเวยชุดธรรมดา ชุดใหญ่เพิ่ม ข้าวตอก งาคั่ว ถั่วทอง ฟักทองแกงบวด ในพิธีทำขวัญจุกใช้ขนมต้มขาวต้มแดงด้วยเช่นกัน เครื่องกระยาบวชในการไหว้ครูเพื่อทำผงอิทธิเจใช้ขนมต้มแดงต้มขาวเช่นกัน
  • พิธีเลี้ยงผีของชาวไทยเชื้อสายมอญในจังหวัดราชบุรีใช้ ขนมบัวลอย ขนมทอด 
  • ขนมที่ใช้ในพิธีไหว้ครูมวยไทยและกระบี่กระบองได้แก่ แกงบวด (กล้วย เผือกหรือมัน) เผือกต้ม มันต้ม   ขนมต้มแดงต้มขาว ขนมชั้น ถ้วยฟู ฝอยทอง เม็ดขนุน ทองมันเป็น
  • ในการเล่นผีหึ้งของ ชาวชอง บนหิ้งมีขนมต้ม ขนมหีบขนม(เขียน ขนฺธสโร). อารยธรรมชอง จันทบุรี ใน อารยธรรมชองจันทบุรี และอาณาจักรจันทบูร เมืองเพนียต. กทม. โรงพิมพ์ไทยรายวัน. 2541

วันพฤหัสบดีที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

สูตรขนมหวาน



สูตรขนมหวานไทย : ขนมเปียกปูน

 ขนมหวานไทย : ขนมเปียกปูน

* แป้งข้าวเจ้า 2 ถ้วยตวง
* แป้งเท้ายายม่อม 2 ช้อนโต๊ะ
* น้ำตาลมะพร้าว 400 กรัม
* น้ำกาบมะพร้าวเผา 3/4 ถ้วยตวง
* น้ำกะทิ 1 ถ้วยตวง
* น้ำปูนใส 4 ถ้วยตวง 
* เนื้อมะพร้าวฝอย 1 1/2 ถ้วย (คลุกเกลือนิดหน่อย ไว้สำหรับโรยหน้า)
ขนมหวานไทย : ขนมเปียกปูนขนมหวานไทย : ขนมเปียกปูน
ขนมหวานไทย : ขนมเปียกปูน     


วิธีทำขนมไทย ทีละขั้นตอน


1. นำกาบมะพร้าวไปเผาไฟพอไหม้นิดหน่อยจึงนำไปจุ่มลงในน้ำสะอาด ทิ้งไว้ให้กาบมะพร้าวแห้ง จึงนำไปโขลกให้ละเอียด และร่อนจนได้ผงละเอียด แล้วจึงนำไปผสมกับน้ำสะอาด 3/4 ถ้วยตวง
2. ผสมแป้งข้าวเจ้าและ แป้งเท้ายายม่อม กับน้ำกะทิ, น้ำปูนใส, น้ำกาบมะพร้าว (ที่ทำในขั้นตอนที่ 1)และ น้ำตาลมะพร้าว ผสมจนทุกอย่างละลายเข้ากันดีจึงนำไปกรองด้วยผ้าขาวบาง
3. เมื่อกรองเสร็จแล้ว เทส่วนผสมลงในกระทะทองเหลือง (หรือกระทะเทฟลอนก็ได้) นำไปตั้งไฟกวนโดยใช้ไฟแรง กวนสักพักพอแป้งจับตัวกันเป็นก้อน จึงลดไฟลงและ กวนต่อจนส่วนผสมข้นและเหนียว จึงเทใส่ถาดเกลี่ยหน้าให้เรียบหรือเทใส่แบบพิมพ์ที่เตรียมไว้
4. ถ้าเทใส่ถาด รอจนส่วนผสมเย็นจึงตัดเป็นชิ้น โรยด้วยเนื้อมะพร้าวฝอย ตักเป็นชิ้นใส่จานเสริฟ หรือเสริฟทั้งถาดแล้วแต่ความเหมาะสม


 สูตรขนมหวานไทย : ขนมเกสรลำเจียก

เครื่องปรุง + ส่วนผสม

ขนมหวานไทย : ขนมเกสรลำเจียก

* แป้งข้าวเหนียว 1 ถ้วยตวง (สำหรับทำตัวแป้ง)
* หัวกะทิ 1/2 ถ้วยตวง (สำหรับทำตัวแป้ง)
* มะพร้าวขูด 1 ถ้วยตวง (สำหรับทำไส้)
* น้ำตาลมะพร้าว 1 1/2 ถ้วยตวง (สำหรับทำไส้)
ขนมหวานไทย : ขนมเกสรลำเจียก* เทียนอบ
ขนมหวานไทย : ขนมดอกลำเจียก         

 วิธีทำขนมไทย ทีละขั้นตอน
1. เตรียมทำไส้โดยนำน้ำตาลมะพร้าวไปผสมกับน้ำเล็กน้อย นำไปตั้งไฟให้ละลาย จึงใส่มะพร้าวขูด เคี่ยวสักพักจึงนำไปอบควันเทียน
2. ทำตัวแป้งโดย นำแป้งข้าวเหนียวนวดกับหัวกะทิ ถ้าชื้นมาก ก็ผึ่งให้หมาด จึงจะยีได้สะดวก แต่แป้งต้องชื้นอยู่เสมอ
3. ตั้งกระทะแบนบนไฟอ่อนๆ ให้ยีแป้งผ่านกระชอนลวดตาละเอียด ๆ หรือแล่ง โรยให้แป้งบางเสมอกันเป็นแผ่นกลม
4. พอแป้งสุก ตักไส้ใส่บนตัวแป้ง ม้วนปิดไส้ แซะขึ้นเรียงใส่โถ อบด้วยควันเทียนให้หอม



สารคดีเรื่อง "ขนมไทย ตำรับเทศ"